INTERVIEW : ‘GONG’ GRAFFITI ARTIST THAI LETTERS skip to Main Content

INTERVIEW : ‘GONG’ GRAFFITI ARTIST THAI LETTERS

บทสัมภาษณ์ที่เราจะพาคุณไปรู้จักกับอักษรไทยร่วมสมัยของ ‘ก้อง’ ศิลปินกราฟฟิตี้จากจังหวัดราชบุรีที่มีลายเส้นเฉพาะตัวสูง กับพยัญชนะไทยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นให้มีความหมายและแฝงไปด้วยคติต่างๆ ให้กับสังคมได้ขบคิด

10945851_917177558323812_9107901853896040906_o

แรกเริ่มก่อนเลย อะไรที่ทำให้คุณสนใจในงานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ท ?

ผมสนใจในงานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ทตรงที่ความใกล้ในระยะประชิดกับผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้นๆ  ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลายวรรณะอาชีพ ทั้งชื่นชม ด่าทอ และไม่รู้สึกอะไรเลย ตัวงานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ททำลายกำแพงบางอย่างของหอศิลป์ (พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๙) ที่ทำให้คนธรรมดา ไม่กล้าที่จะเดินเข้ามาชมงานศิลปะในหอศิลป์  แต่งานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ทจะพาตัวเองลงไปปะปนกับผู้คนบนท้องถนน แต่ผมก็ไม่ได้หมายความว่าหอศิลป์ไม่ดีนะ ผมยังชื่นชมความเป็นหอศิลป์อยู่เหมือนเดิม ระบบศิลปะจะแข็งแรงต้องมีหอศิลป์อยู่ในนั้นด้วยครับ

Tag Name ที่คุณใช้คือ ?

ปีพ.ศ.๒๕๔๘ เราใช้คำว่า  ‘HEY!!’   แล้วมาปีพ.ศ.๒๕๔๙ จนถึงตอนนี้ก็เป็นชื่อ ‘ก้อง’

1781909_667605096614394_239004094_n

1913229_684997494875154_1471418887_o

ช่วยอธิบาย ถึงสไตล์ฟร้อนท์ไทยประยุกต์ ที่คุณทำอยู่ตอนนี้ มันมีที่มาที่ไปยังไงบ้าง ทำไมถึงสนใจสไตล์และรูปแบบนี้ ?

ขอย้อนนิดนึง ในช่วงที่ผมกำลังศึกษาชั้นประถมศึกษา ๕-๖ ในย่านที่เป็นพื้นที่ทำไร่ นา ของจังหวัดราชบุรี ขณะที่เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันชื่นชอบการยิงนกตกปลา เล่นลูกแก้วกันในวันหยุด ผมเลือกที่จะไปคอยดูครูใหญ่ที่มักรับงานเขียนป้ายเอามาทำที่โรงเรียนในวันหยุด ดูอยู่ไม่กี่ครั้งครูใหญ่ก็ให้ลองเขียนดู โดยครูใหญ่จะร่างตัวอักษรต่างๆด้วยดินสอและกำชับว่า “อย่าเขียนเกินรอยดินสอนะ”  ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าทำไมผมจึงสนุกและมีความสุขกับการใช้ภู่กันหลากสีไปตามรอยดินสอเหล่านั้น แต่มันเพียงพอที่จะทำให้ผมพอรู้เส้นทางคร่าวๆ ของตัวเองในปี พ.ศ.๒๕๔๘  (หลังจากศึกษาจบปริญญาศิลปบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้)  ผมเริ่มมีความสนใจในงานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ท และบางครั้งยังไปช่วยเพื่อนที่ทำงานสตรีทอาร์ทด้วยกันอย่าง ‘บอน’  แปะโปสเตอร์งาน ในปีเดียวกันนั้นผมเริ่ม Tag โดยเป็นภาษาอังกฤษ (HEY!!) ด้วยความที่เพิ่งเรียนจบมา การ Tag ที่ต้องหลบซ่อนไม่ให้ใครเห็นเวลาเขียน ความไวในการเขียน บวกกับความ underground ของสถานที่ แสงไฟสลัวยามค่ำคืนของเมืองใหญ่ ภาพมันช่างดูคุ้นตาคล้ายกับในมิวสิควีดีโอที่ผมชื่นชอบในเวลานั้น  ผม Tag (HEY!!) ได้ประมาณหนึ่งปี ด้วยความที่เป็นเด็กนักเรียนศิลปะ จึงเริ่มมีคำถามกับตัวเองในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ผมต้องการอะไรจากการ Tag  ผมเริ่มรู้สึกว่ากำลังโกหกตัวเอง เกี่ยวกับการ Tag ของผม ประกอบกับงานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ทในขณะนั้น (พ.ศ.๒๕๔๙) โดยเฉพาะงานฟร้อนท์ ที่มีแต่ภาษาอังกฤษที่อ่านค่อนข้างยากสำหรับคนไม่ได้เรียนศิลปะ (แม้แต่ผมเองกับงานฟร้อนท์ที่มีทักษะสูงยังแทบอ๊วกกว่าจะอ่านออก) ผมเกิดในประเทศไทย ประเทศที่มีภาษาเป็นของตนเอง มีงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ และภาษาไทยยังสามมารถใช้สื่อสารได้ทุกที่บนผืนแผ่นดินไทย แม้กระทั่งในความฝัน  สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าการ Tag ด้วยภาษาอังกฤษของผมในตอนนั้น มันเริ่มไม่ใช่สำหรับผม ผมไม่ได้โตมาจากการคุ้มครองให้สามารถมีชีวิตรอดมาได้ด้วยอิทธิพลของแก็งไหน ผมได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ครูอาจารย์ มิตรสหาย และสิ่งที่ผมต้องการจากงานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ท คือใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสารกับผู้คนในสังคมเพื่อเป็นกระจกสะท้อนกลับไปจากมุมของผม ประมาณกลางปี พ.ศ.๒๕๔๙ ผมเริ่มใช้ ‘ก้อง’  เป็น Tag  และนำตัวอักษรไทยมาใช้ในการสร้างสรรค์

สไตล์ฟร้อนท์ไทยประยุกต์แบบนี้ มันมีความยากง่ายยังไงบ้าง ต่างจากการทำฟร้อนท์อังกฤษยังไงบ้าง ?

ผมคิดว่าทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ต่างก็มีความยากง่ายอยู่ในตัวเอง อยู่ที่จุดประสงค์ของผู้สร้างสรรค์แล้วล่ะว่าต้องการแสดงความเป็นเลิศทางทักษะหรือเพื่อการสื่อสารที่ไม่ซับซ้อนหรือเพื่อทั้งสองอย่าง ผมตั้งใจให้ตัวหนังสือสามารถอ่านได้ไม่ยากนัก คนที่รู้ภาษาไทยก็สามารถอ่านได้ ผมเชื่อว่ามันจะทำให้งานของผมอยู่ใกล้คนธรรมดาทั่วไปได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับตัวอักษรที่อ่านยาก

เท่าที่เห็น ก็จะมีการนำลวดลายไทยมาผสมผสานด้วยใช่มั้ย ?

ใช่ครับ นอกจากตัวอักษรไทยแล้ว ลายไทยก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของประเทศไทย  ผมได้แรงบันดาลใจในการใช้เส้นที่อ่อนช้อยของลายไทย ผมศึกษาลายไทยจากพี่ที่ศึกษาจบมาโดยตรงในสาขาจิตรกรรมไทย ผู้ที่ยังคงคลุกคลีอยู่กับการวาดภาพผนังอุโบสถ ถ้ามองจากมุมของพี่ที่สอนลายไทยผมมา ลายไทยที่ผมเขียนอยู่ในขั้นของการเริ่มต้นเท่านั้น ยังคงต้องพยายามฝึกเรื่อยๆ

1796737_802734619768107_7369842219232069403_o

12239225_993464680695099_3302650709468862092_o

แต่ละคำหรือแต่ละประโยคในงานของคุณก็จะมีความหมายที่สื่อออกมาด้วย ช่วยอธิบายถึงกระบวนการความคิดทางความหมายแต่ละผลงานที่สื่อออกมา ?

ชื่อของสถานที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่ผมนำมาใช้บ่อยสุด ผมคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ท มันคือการนำอัตตาของเราไปแปะอยู่บนกำแพงบ้านคนอื่น  ผมพ่นชื่อสถานที่เพราะผมต้องการให้คนที่เขาอยู่กับงานทุกวันจริงๆ (ซึ่งไม่ใช่ผม) ไม่รู้สึกแปลกแยกมากเกินไปกับตัวหนังสือที่แปะอยู่บนพื้นที่ของพวกเขาและบ่อยครั้งที่ความหมายของคำที่ผมทำขึ้นเป็นการแสดงทัศนคติของผม กับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองมีการแบ่งฝ่ายกันอย่างออกนอกหน้า ความรุนแรงถูกใช้เป็นเครื่องมือสู่ชัยชนะ คำที่ทำในช่วงเวลาอย่างนั้นคงหนีไม่พ้นที่จะเป็นคำว่า ‘สันติ’ เช่นเดียวกับความรู้สึกอีกหลายๆ คนในสังคม ผมก็เป็นอีกหนึ่งคนที่อยากให้สังคมที่ผมมีชีวิตอยู่ได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม การทำงานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ทอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการมีสังคมที่ดีขึ้น แต่ผมก็เชื่อว่างานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ทน่าจะเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ในนั้น

มุมมองของคุณกับเสน่ห์ในงานฟร้อนท์ไทย ?

ผมชอบเส้นที่อ่อนช้อย พริ้วไหว ทั้งในตัวอักษรและในลายไทย องศาของความโค้งที่เป็นเอกลักษณ์ ความอ่อนช้อยที่ทำให้คนต่างชาติ ต่างภาษารู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นอยู่ตรงหน้า ถูกทำขึ้นโดยคนจากประเทศอะไร แม้จะยังไม่รู้ความหมายของคำนั้นก็ตาม  (ผมหมายถึงในกรณีที่งานของผมได้มีโอกาศได้ทำนอกประเทศไทย)

คุณทำงานในสายกราฟฟิตี้มากี่ปีแล้วและมีมุมมองกับผลงานตัวเองยังไงบ้างกับระยะเวลาของผลงานที่เปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ?

ปีนี้ก็ประมาณ ๑๐ ปีครับ ส่วนมุมมองกับงานตัวเองจากอดีตถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าฟร้อนท์ไทยที่ผมทำยังสามารถพัฒนาได้อีกครับ ยังคงต้องสะสมประสบการณ์เพิ่มเติมต่อไป

1477405_1074354522606114_8515534451663872092_n

12920405_1076239385750961_4015814609291992004_n

ผลงานของคุณถือว่าเป็นงานฟร้อนท์ไทยคนแรกๆ ที่ทำจริงจังที่สุดในบ้านเรา อะไรคือสิ่งที่เป็นปัจจัยนำเสนอในด้านนี้ ?

ผมอยากนำเสนอเรื่องความเป็นไทยโดยใช้ตัวอักษรไทยในความหมายต่างๆ  ผมคิดว่าภาษาไทยเป็นของคนไทยและผู้ที่สามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้ ใครที่รู้จักภาษาไทยสามารถนำไปใช้ได้ไม่เสียเงิน มันน่าภูมิใจนะที่เรามีตัวอักษรของเราเอง

ฟร้อนท์ไทยที่มีความหมายหรือเป็นคำในอนาคตที่อยากทำมากที่สุด ?

คำว่า ‘ขอบคุณ’ ลองคิดดูเล่นๆ นะว่าเหตุการณ์อะไรที่จะทำให้คนทำงานศิลปะข้างถนน ต้องออกมาเขียนคำว่า ‘ขอบคุณ’ตัวใหญ่เท่าข้างฝาบ้าน (คนใช้แรงงาน) อยากทำจริงๆ ครับ แต่เมื่อไหร่นั้นผมคงตอบไม่ได้

12369025_1003877919653775_2897478007037532349_n

 

*Follow : ติดตามผลงานและร่วมพูดคุยกับเขาได้ที่*

IG :  GONG_KLOMKLIENG

FB : Gong Klomklieng

EMAIL : gong.rachan.klomklieng@gmail.com

 

 

 

Back To Top