Interview : ‘Alex Face’ The Story Art on Street skip to Main Content

Interview : ‘Alex Face’ The Story Art on Street

‘Alex Face’ กับหลายๆ เรื่อง ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน จากประสบการณ์การทำงานมาตลอดหลายปี

ช่วงที่ต้อง lockdown จากโควิดที่ผ่านมา เป็นยังไงบ้างครับ ?

เอาจริงๆ เราก็ถือว่าโชคดีกว่าคนอื่นๆ เยอะนะ อย่างเขามี work from home กัน เราก็ทำกันมาอยู่แล้วตั้งนาน มันก็ไม่ได้ส่งผลอะไรเท่าไหร่ บางงานก็ถูก cancel ไปแต่มันก็ทำให้เราได้ทำสิ่งอื่นๆ ได้มากขึ้น ลดความเร่งรีบการทำงานต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ก็มีงานแสดงที่สิงคโปร์ซึ่งเขาไม่เลื่อน ตอนแรกเราคุยกับเขาว่าเลื่อนไปก่อนมั้ย แต่เขาก็โอเค บอกว่าทำต่อไป ไม่เลื่อน มันก็เลยกลายเป็นโชว์เดี่ยวครั้งแรกที่เราไม่ได้ไปร่วมงานเปิดโชว์ของตัวเอง

สองสามปีที่ผ่านมา พี่ก็ได้ไปทำงานที่ต่างประเทศอยู่บ่อยๆ มีที่ไหนที่พี่ชอบบ้างครับ ?

อย่างปีที่แล้วก็ไปอเมริกาก็รู้สึกว่าชอบ แล้วก็มีไปยุโรปเดือนนึง ซึ่งตอนนั้นมันก็มีงานที่ต้องทำอยู่เยอะ ปั่นงานตลอด มีเวลา 2 เดือน ทำโชว์ 1 เดือน บางโชว์ก็เหลือเดือนเดียวด้วยซ้ำไป อย่างงานที่จะไปยุโรป ปั่นงาน 20 ชิ้นเดือนนึงเลย คือมันเกินช็อตแบบเพลินแล้วไง มันต้องมีการวางแผนที่ดี คือเราวาดรูปทุกวันเลยนะ แค่หนึ่งชั่วโมงเนี่ย บางทีมีเพื่อนชวนไปไหน เรายังไม่ว่างไปเลย เพราะตอนนั้นเวลา 1 ชั่วโมงเราจะมานั่งคุยไปไหนกัน ไร้สาระไม่ได้เลยนะ เวลาในแต่ละวันมันถูกเราวางแผนมาหมดแล้ว ทุกอย่างมีสเต็ปเอาไว้หมดแล้ว อันนี้ทำแค่ไหน อะไรทำต่อ เสร็จแล้วทำอะไร เราพยายามทำให้ได้ตามแผนมากที่สุด

แล้วอย่างตอนไปพ่นที่เมืองนอก ความยากง่ายเป็นยังไงบ้างครับ ?

อย่างตอนไปนิวยอร์คที่อเมริกา คือที่นั่นมันเป็นศูนย์รวมพวกสาย creative เยอะมาก มีการแข่งขันกันสูง อย่างตอนเราไปพ่นที่ชิคาโก แล้วเราก็งานแสดงที่นั่นด้วย ทางแกลเลอรี่เขาก็รู้ว่าเราต้องพ่นกำแพงแน่ๆ ทางเขาก็จะไปติดต่อกำแพงเอาไว้ ซึ่งตอนที่เราไปพ่นบางทีเราก็เจอคนทั่วๆ ไป ที่เดินมาเจอ ติดต่อให้เราไปทำตรงนั้นตรงนี้อีก คือที่ชิคาโกเราว่าเขาค่อนข้างจะเปิดรับกับคนแปลกหน้า ช่วงแรกๆ ที่ไปมันก็เกร็งๆ นะ ดูหนังมาเยอะด้วย กลัวว่าจะมีอะไรเหมือนกัน พวกเหยียดผิวหรือแบบคนเอเชียมาเดินแถวนี้จะเป็นอะไรหรือเปล่า อย่างมานิวยอร์คก็เหมือนกัน เราก็หา connection เพื่อนศิลปินที่นี่ไว้ เราก็ติดต่อกันให้เขาหาที่พ่นไว้ให้ บางคนก็มีสีให้ด้วย หรืออย่างเมื่อช่วงต้นปีเราเพิ่งไป Reunion มา ตอนนั้นมันมีเหตุการณ์วุ่นๆ นิดนึง เราไปเกาะชื่อ ‘Reunion’ ซึ่งเป็นเกาะของฝรั่งเศส ใกล้ๆ กับมาดากัสการ์ ซึ่งตอนนั้นเรามากับ Jace เพื่อนศิลปินด้วยกัน เพื่อจะมาทำงานเเสดงที่เเกลเลอรี่เขา เเล้วก็หาที่พ่นในเกาะกัน เเล้วก็เจอบ้านร้างที่นึง มีงานกราฟฟิตี้พ่นเต็มไปหมด เราก็ไปพ่นกัน สุดท้ายเจ้าของพื้นที่โผล่มาเเล้วก็เเจ้งตำรวจ ตำรวจก็เลยให้เราไปซื้อสีมาลบซะ ซึ่งบนเกาะเนี่ยจะมีงาน Jace เยอะมาก เหมือนงาน Jace เป็นไอคอนของที่นั่น ผ่านไปตรงไหนก็จะเจองานเขาเต็มไปหมด ได้เป็นเเอมบาสเดอร์ของสายการบินที่นั่นด้วยนะ คือเป็นซุปเปอร์สตาร์ไปเเล้ว เเต่เขาก็บอกเราว่า “มึงรู้มั้ยตอนกูไปพ่นยังโดนด่าอยู่เลย คือทุกคนจะมาคิดว่ากูคือคนดัง กูพ่นตรงไหนก็ได้ ไม่เลย กูยังโดนด่าเหมือนกับทุกคน”

 

ผลงานของพี่ได้รับความนิยมมากมายจากหลายๆ เเวดวง ในมุมมองของพี่ รู้สึกยังไงบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น ?

เราจะเเยกเอาไว้หลายๆ ส่วน หลักๆ เเล้วเราคือคนทำงานศิลปะ อยากเป็นศิลปินที่ดี อยากทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราต้องพัฒนาตัวเองไปให้สุดเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งมันไม่ได้หมายถึงชื่อเสียงนะ เเต่เป็นการพัฒนาคุณภาพของงานมากกว่า ส่วนเรื่องการทำงานกับเเบรนด์ต่างๆ เราคิดว่ามันเป็นอีก part นึงของการทำงาน เพราะอย่างเราทำงานสตรีทอาร์ท มันจะมีหลายมุมให้เราไป มีหลายสิ่งที่สามารถนำงานศิลปะของเราไปได้ เรามีเเพทฟอร์มของงานเราที่เเตกต่างกัน กลุ่มคนที่สนใจที่จะเข้าถึง มันก็คนละเเบบกัน เราทำงานดีไซน์ได้ ทำเพ้นท์ได้ พ่นได้ ได้ collab กับวงการอื่นๆ มันทำให้คนได้หันมาสนใจงานสตรีทอาร์ทมากขึ้น เริ่มสะสมงาน คืออย่างน้อยมันก็ทำให้วงการเรามันน่าสนใจเเละถูกหันมามองมากขึ้นกว่าเเต่ก่อน เอาง่ายๆ เลยถ้า Banksy ไม่ดัง ใครจะมามองสตรีทอาร์ท ถึงคนจะมาด่า Banksy อย่างงั้นอย่างงี้ก็เถอะ เเต่พอมันดังขึ้น คนเริ่มเก็บงานสตรีทอาร์ทมากขึ้น มันก็เลยส่งผลกันมาเป็นทอดๆ เราว่ามันเป็นทุกวงการเเหละ

การขายงานศิลปะในโชว์ที่ผ่านๆ มาของพี่ มีการจัดการยังไงบ้าง ?

อย่างที่ไทยมันต้องมีคิว อย่างเรามีงานโชว์นึง เราก็จะส่งให้คนที่ลงชื่อรออยู่ในลิสต์ก่อน ซึ่งเราก็จะให้ทางแกลเลอรี่ที่เราแสดงเขาจัดการไป แต่ก็มี walk in เข้ามาซื้องานก็มีนะ แต่สุดท้ายเราก็ให้แกลเลอรี่เขารับผิดชอบ เป็นคนดีลให้เราไป เช่น จู่ๆ มีคนอยากได้รูปนี้ แล้วเราไปวาดให้คนนี้ก่อน มันก็จะไม่แฟร์กับคนที่อยู่ในลิสต์ของเรา คือตอนนี้มันเป็นเรื่องของการจัดระบบให้มันแฟร์มากที่สุด แล้วเราก็ต้องไม่รีบวาดรูปเพื่อขายด้วย เราต้องค่อยๆ ทำออกมาให้ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าขายได้ แล้วรีบวาดออกมาใหญ่เลย คือเราก็รู้ว่าเราสามารถวาดรูปได้ ขายได้ก็จะได้เงิน แต่กลับเป็นว่าพอมีคนมาติดต่อมา เราก็ต้องคิดว่าจะบอกเขายังไง จะพูดกับเขายังไง ให้เขาเข้าใจว่าเรามีระบบการขายแบบนี้นะ คือเราก็อยากขายแหละ ขายได้มันดีอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อก่อนเราก็เคยผ่านการขายงานไม่ได้เลยมาก็เยอะ จนมาวันนึงมันขายได้ มันก็เข้ามาสู่อีกโหมดนึงที่เราต้องจัดการ ซึ่งถ้าระบบมันแข็งแรง แกลเลอรี่แข็งแรง ศิลปินมันก็แข็งแรง ต่อไปมีศิลปินรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา มันก็จะมีระบบรองรับเอาไว้แล้ว สมมุติว่าเราขายงานเองไม่มีใครมาจัดการ มันก็ไม่ผิดอะไรนะ แต่ถ้าเราขายเอง บางทีเราอาจจะไม่เข้าใจระบบการขายงาน อย่างการตั้งราคางานให้เหมาะสม แล้วเราควรจะรักษามาตรฐานของราคายังไง ขายงานให้คนนี้ไป 50,000 บาท วันนึงเราร้อนเงินขายชิ้นนี้ให้อีกคนแค่ 20,000 บาท มันก็ไม่โอเคใช่ไหม เราก็จะขาดความน่าเชื่อถือไปเลย

เวลาพี่ทำงานวาดรูป ฟังเพลงแนวประมาณไหน ?

เอาจริงๆ มันก็ฟังไปเรื่อยๆ นะ แต่จะมีช่วงหลังๆ เราจะชอบฟังเพลงพวก Background Music แบบมีบีทอย่างเดียว กลางคืนบางทีก็ฟังพวก Remix Night Sound ฟังชิลล์ๆ แล้วก็มีมาหนักฟังพวกข่าวต่างๆ ฟังพวก Podcast

สถานที่ที่อยากไปพ่นมากที่สุด ?

ก็พ่นไปเรื่อยๆ แหละ คืออย่างเราเดินทางไปไหน เห็นกำแพงตรงนี้ เฮ้ย ! ชอบว่ะ มันจะอารมณ์นั้นมากกว่า แต่อยากไปทำจริงๆ อยากลองไปอเมริกาใต้ดู

มุมมองของพี่กับกระแสงานกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ทในทุกวันนี้ ?

มันก็มองได้หลายมุมนะ เป็นงานที่ได้รับความนิยมมากขึ้น อันนี้มันก็มองแบบนี้ได้ แต่เราคิดว่ามันคงมีงานอีเว้นท์ต่างๆ ที่มีพวกงานสตรีทอาร์ทไปพ่นบ้างหรือถ่ายโฆษณา เพราะงานแบบนี้มันดูร่วมสมัย เข้าถึงผู้คนได้ง่าย มันดูเป็นคนรุ่นใหม่ งานลักษณะแบบนี้มันก็อาจจะถูกมาใช้ เราก็มองว่ามันได้รับการยอมรับขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มีอีกมุมนึงเวลาที่เราไปพ่นเราก็ยังโดนด่าอยู่ดี ซึ่งทุกวันนี้เราก็โดนอยู่บ่อยๆ เราเจรจากับเจ้าของที่ เขาก็ไม่โอเค ไม่สนใจ มันก็เลยทำให้เราคิดว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขานี่ ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าคนมันจะยอมรับงานพวกนี้อะไรขนาดนั้น มันมีมุมที่คนไม่โอเคก็มี บางทีเรารู้สึกว่าตอนนี้พ่นยากกว่าสมัยก่อนอีก แต่สุดท้ายเราก็ยังมองว่ามันเป็นงานของคนเฉพาะกลุ่มอยู่ดี มันไม่ได้เป็นที่ยอมรับขนาดนั้น คือมันไม่ได้มีใครแคร์หรือสนใจขนาดนั้น อย่างงานกราฟฟิตี้ในมุมของเรา มันเป็นเรื่องการประกาศตัวตนของกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงนี้ ต้องการประกาศตัวตนของเขา ไม่ว่าจะพ่นฟอนต์ พ่นแท็ก หรืองานบอมบ์ต่างๆ ในแต่ละที่ อย่างเราก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะพ่นสตรีทอาร์ทหรือกราฟฟิตี้ มันก็คือการหาพื้นที่เพื่อประกาศตัวตน แล้วการที่ตอนนี้มีดราม่าสตรีทอาร์ทหรือกราฟฟิตี้กัน มันก็คือเรื่องการแย่งชิงพื้นที่กัน ถึงจะมีการแซะกันในโลกอินเตอร์เน็ตก็เถอะ เราก็มองว่ามันก็คือการแย่งชิงพื้นที่กัน ซึ่งเราก็มองแค่นั้นเลย เราก็รู้สึกมันก็เป็นแบบนี้กันทั้งโลกแหละ แต่เราก็เข้าใจว่าถึงความต้องการว่าอยากให้งานกราฟฟิตี้มีการพูดถึงมากขึ้น เพราะตอนนี้คนพูดถึงสตรีทอาร์ทเยอะซึ่งอาจจะใช้คำผิดว่าเป็นกราฟฟิตี้ ซึ่งเราก็เข้าใจอยู่ว่ามันมีเส้นแบ่งยังไง เราก็เข้าใจได้ว่าเขาอาจจะไม่โอเค ว่าเอาคำว่ากราฟฟิตี้ ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ มันเป็นสตรีทอาร์ทไปแล้ว ซึ่งมันก็คือการแย่งชิงพื้นที่ไม่ว่าในอินเตอร์เน็ตหรือบนกำแพงก็ตาม เราว่ามันเป็นธรรมชาติมากๆ แต่เรื่องนิยามของแต่ละคนในการมองงานประเภทนี้เป็นแบบไหน เราว่ามันเป็นเรื่องส่วนบุคคลล่ะ ว่าเขามองกราฟฟิตี้ยังไง มองสตรีทอาร์ทยังไง

ทุกวันนี้คนยังสับสนกราฟฟิตี้กับสตรีทอาร์ทกันเยอะ มุมมองของพี่เป็นยังไงครับ ?

คือถ้าพูดถึงคนภายนอก คำว่า ‘กราฟฟิตี้’ มันเป็นคำพูดติดปากไปแล้วไง มันพูดง่าย การพ่นกำแพงมันคือกราฟฟิตี้ พอคราวนี้ไม่ว่าจะพ่นอะไรบนกำแพง มันก็จะเรียกกราฟฟิตี้กันไว้ก่อน เอากระป๋องสีพ่นกำแพง เขาไม่รู้หรอกว่าคุณทำสตรีทอาร์ทหรือกราฟฟิตี้ เราว่ามันแก้ไม่หายหรอก คนมันไม่ได้มาสนใจ อีกอย่างถ้าจะพูดถึงรากศัพท์แล้ว ‘กราฟฟิตี้’ คือการขีดเขียนบนกำแพงโดยตั้งใจไม่ใช่เหรอ คือถ้าแปลตามนี้ เราว่ามันโอเคถ้าคนจะพูด แต่สุดท้ายมันก็เป็นตัวคนทำงานมากกว่าที่ต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่เท่านั้นเอง

 

Photographer : PPongser / 16120.jpg

Photo Work : Alex Face

 

 

Back To Top